17/4/53

อุปกรณ์ที่จำเป็นเบื้องต้นของการเลี้ยงตู้ปลาทะเล

อุปกรณ์ที่จำเป็นเบื้องต้นของการเลี้ยงตู้ปลาทะเล

1.ตู้ปลา + ขาตู้

ตู้ปลา ควรจะเลือกใช้กระจกให้หนาเหมาะสมกับขนาดตู้ (สามารถขอข้อมูลได้จากร้านประกอบตู้ปลาทั่วไป) หรือมีกำลังทรัพย์มากพอ ก็ควรเลือกกระจกที่หนากว่าปกติไปเลยก็ยิ่งดีเพราะกระจกที่หนาขึ้น โอกาสที่จะแตกก็ยากขึ้น ความปลอดภัยก็สูงขึ้น

ขาตู้ หากเป็นขาเหล็กก็ควรจะใช้สีทากันสนิมที่ดีๆ หมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอๆเพื่อที่จะได้ไม่เกิดสนิมโดยง่ายหรือหากใช้เป็นขาไม้ ราคาก็จะสูงขึ้นพอสมควร แต่ก็จะตัดปัญหาเรื่องสนิมไปได้เลย


2. ระบบกรอง + ปั๊ม

ระบบ กรองในตู้ทะเล มีมายมายหลายระบบ ซึ่งแต่ละคนก็อาจจะเลือกใช้ ตามความรู้ความเข้าใจ และ
ประสบการณ์ของตนเอง ไม่มีระบบใดดีที่สุด ระบบ จะมีประสิทธิภาพดีแค่ไหน ขึ้นอยู่ที่การจัดการของผู้จัดระบบเองมากกว่า

ในที่นี้จะกล่าวถึงระบบกรองที่นิยมมากที่สุด ทำหรับตู้ปลาทะเล ก็คือระบบ wet/dry ความหมายคือ ส่วน wet หมายถึงส่วนที่เปียก นั่นคือส่วนของวัสดุกรองที่จมน้ำอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรีย และส่วน

dry หมายถึงส่วนที่ไม่ได้จมน้ำ แต่มีน้ำไหลผ่าน แบคทีเรียลงเกาะได้น้อย แต่ประโยชน์ก็คือเพื่อก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนในระบบ (ที่พบเห็นโดยทั่วไป ก็คือชั้นของไบโอบอล)แต่หากมั่นใจว่าในระบบ มีการสร้างออกซิเจนจากจุดอื่นที่เพียงพอแล้ว(เช่นจากพวกโปรตีนสคิมเมอร์) ส่วน dry ก็อาจจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ใช้พื้นที่ตรงนี้ใส่วัสดุกรองที่มีประสิทธิภาพลงไปแทนดีกว่า

ตู้ปลาทะเล อย่างน้อยที่สุด ก็ควรจะเป็นกั้นกรองข้างตู้ หรือถ้าจะให้มีประสิทธิภาพมากกว่านั้น ก็ควรอย่างยิ่งที่จะเลือกใช้เป็นกรองล่าง เพราะจะมีพื้นที่ในการใส่วัสดุกรองมากกว่า มีพื้นที่ในการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆได้โดยไม่ไปเกะกะตู้โชว์ หรืออาจจะใช้พื้นที่ในการปลูกสาหร่าย หรือทำเรฟูเจียม(ที่หลบภัยของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ) ร่วมด้วย

ตู้กรองล่าง ยังช่วยให้ปริมาณน้ำในระบบมากขึ้น ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อเสถียรภาพของค่าต่างๆในน้ำด้วยครับ

ปั๊มหลักที่ใช้ก็ควรมีขนาดที่เหมาะสมกับขนาดตู้ โดยทั่วไปแล้ว ควรจะมีอัตราการไหลเวียนของน้ำ ประมาณ 8-10 เท่า ของปริมาณน้ำในตู้ (ยกตัวอย่างเช่น ตู้ปลาขนาด 400 ลิตร ก็ควรจะเลือกใช้ปั๊มหลัก ที่มีอัตราการไหลเวียนของน้ำประมาณ 3200-4000 ลิตร / ชม)

วัสดุกรองที่ใช้ใส่ในตู้กรองที่นิยมที่สุด คือเศษปะการัง เนื่องจากมีราคาไม่แพง   รูพรุนสูง เป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียที่ช่วยกำจัดของเสียได้ดีและมีคุณสมบัติทาง เคมีที่เหมาะสมกับตู้ทะเล ไบโอริง(เซรามิคริง) ก็เป็นอีกหนึ่งวัสดุ ที่ใช้งานได้ดีไม่แพ้กัน รูพรุนสูง แต่ราคาค่อนข้างแพงไม่ควรใช้พวกหิน ภูเขาไฟเพราะในระยะยาว อาจจะอุดตันได้ง่าย และอาจจะมีแร่ธาตุบางตัว ซึ่งเป็นโลหะหนัก ที่อาจจะละลายมาในน้ำ หากสะสมในปริมาณมากพอ ก็อาจจะเป็นพิษต่อสัตว์บางชนิดในตู้ได้เช่นกัน

หินเป็น - ทรายปูพื้นตู้
หินเป็น ก็คือหินที่เก็บมาจากแนวปะการังในทะเลซึ่งจะมีสิ่งมีชีวิตต่างๆอาศัยอยู่ เช่น พวกแบคทีเรีย กุ้ง หอย สาหร่าย หนอน และสัตว์เล็กๆอีกมากมาย ฯลฯ ซึ่งหินเป็นนี้จะช่วยในการบำบัดน้ำและสร้างระบบนิเวศน์ในตู้ให้สมบูรณ์อีก ด้วย

ทราย จะเป็นทรายทะเลละเอียด หรือพวกเศษปะการังบดละเอียด ก็ใช้ได้เช่นกัน ทำการล้างให้สะอาดเสียก่อนที่จะนำมาใช้ หรือในบางระบบ อาจจะไม่มีการปูพื้นทรายเลยก็ได้ ประโยชน์คือทำให้ดูดตะกอน ทำความสะอาดได้ง่าย แต่ก็ควรจะต้องมีระบบการจัดการของเสียอื่นๆที่ดีเยี่ยมด้วย

3. น้ำทะเล
จะเป็นน้ำทะเลแท้ (ไม่ควรใช้น้ำจากชายหาด เพราะความเค็มมักจะต่ำ และมีมลพิษสูง) หรือจะใช้เกลือวิทยาศาสตร์ผสมเป็นน้ำทะเลขึ้นมาก็แล้วแต่ความสะดวก

4. โปรตีนสคิมเมอร์
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ฟองอากาศ ในการแยกของเสียออกจากน้ำ ถือว่ามีความจำเป็น เพราะโปรตีนสคิมเมอร์ จะช่วยแยกไขมัน โ ปรตีน และสารประกอบ ส่วนเกินต่างๆออกจากน้ำ ก่อนที่มันจะเน่าเสีย กลายเป็นของเสียให้กับระบบ ซึ่งถือเป็นวิธีการกำจัดของเสียที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้คุณภาพน้ำในตู้ดีขึ้น แต่หากเป็นตู้เล็กๆ มีการเลี้ยงสิ่งมีชีวิตไม่มากนัก สามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำได้ง่ายและทำได้บ่อย (เดือนละ 2-4 ครั้ง) ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้โปรตีนสคิมเมอร์ก็ได้

โปรตีน สคิมเมอร์ มีหลายยี่ห้อหลายรุ่นหลายราคา คุณภาพก็แตกต่างกันไป ควรจะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับตู้และงบประมาณของเรา

5. เทอร์โมมิเตอร์
สำหรับวัดอุณหภูมิ จะเป็นแบบดิจิตอลราคาหลายร้อยหรือแบบปรอทราคาไม่กี่สิบบาท ก็ใช้ได้เหมือนกัน ใช้สำหรับดูความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในตู้ในแต่ละวัน เพราะเรื่องอุณหภูมิมีความสำคัญกับการเลี้ยงปลาทะเลพอสมควร การเลี้ยงปลาทั่วไปอุณหภูมิจะอยู่ระหว่าง 27-30 องศาเซลเซียส เลือกค่าใดค่าหนึ่งก็ได้แต่ควรรักษาอุณหภูมินั้นๆให้คงที่เข้าไว้

6 ระบบไฟ

ระบบไฟ สำหรับตู้ปลาทะเล หากเป็นตู้ที่เลี้ยงปลาล้วน จะใช้ใช้ไฟอย่างไรก็แล้วแต่ความต้องการของตัวผู้เลี้ยง เพราะตู้ปลาล้วน ไฟมีหน้าที่เพียงแค่เพื่อให้ความสวยงามเท่านั้นแต่สำหรับตู้เลี้ยง ปะการัง ระบบไฟ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆของระบบ เพราะเป็นแหล่งอาหารหลักของปะการังที่สังเคราะห์แสงในตู้ ระบบไฟที่ได้รับ การยอมรับ และแพร่หลายในการใช้เลี้ยงปะการังมากที่สุด ก็คือ MH( เมทัล ฮาไลน์) ซึ่งจะให้แสงสว่างค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับไฟชนิดอื่นๆ ในอัตราการกินไฟที่เท่ากัน
อุปกรณ์ ที่จำเป็นในการใช้วัดคุณภาพน้ำ

ตัว วัดค่าคุณภาพน้ำ มีหลักๆ ที่จำเป็นก็คือ

NH3/NH4+ (แอมโมเนีย) เป็นขั้นตอนแรกสุดของการเน่าเสีย เมื่อเกิดการเน่าเสียของของเสียในตู้ ก็จะปล่อย

แอมโมเนียออกมา ซึ่งเป็นพิษกับสัตว์น้ำมากที่สุด แต่แอมโมเนีย สามารถโดนกำจัดได้โดยง่ายและรวดเร็ว โดย

“แบคทีเรียแบบใช้ออกซิเจน” (Aerobic Bacteria)

แอมโมเนียจะถูกเปลี่ยนรูปไปเป็นไนไตรท์ (No2) ซึ่งเป็นพิษน้อยกว่า เราจึงมักจะตรวจพบแอมโมเนียเพียงแค่ในช่วงแรกๆของการเซตตู้เท่านั้น หลังจากนั้น หากไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไร (เช่นปลาตายเน่าในตู้) ก็จะตรวจพบแอมโมเนียได้ยากมาก หรือหากตรวจพบ ก็จะพบว่ามีไนไตรท์สูงควบคู่กันไปด้วย ดังนั้น ตัวเทสแอมโมเนีย ก็อาจจะไม่มีความจำเป็นเท่าไหร่นัก เพราะหากเรามีตัวเทสไนไตรท์อยู่แล้ว ก็พอที่จะสามารถบอกถึงคุณภาพน้ำโดยรวมได้เช่นกัน

No2 (ไนไตรท์)

เกิด จากการย่อยสลาย และเปลี่ยนรูปมาจากแอมโมเนีย มีความเป็นพิษต่อสัตว์น้ำค่อนข้างสูงเช่นกัน (แต่น้อยกว่าแอมโมเนีย) ถูกกำจัดได้ช้ากว่าแอมโมเนีย หาก No2 สูงเท่าไหร่ ก็จะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในตู้มากเท่านั้น

น้ำยาเทส No2 จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับตู้ทะเล ตู้เลี้ยงที่ดีไม่ควรจะมี No2 อยู่ในระบบ

ไนไตรท์ จะถูกกำจัดโดย “แบคทีเรียแบบใช้ออกซิเจน” (Aerobic Bacteria) ให้เปลี่ยนรูปไปเป็น         ไนเตรท(No3) ซึ่งมีความเป็นพิษต่อสัตว์น้ำน้อยมากแต่ถึงอย่างไร หากมีไนเตรทสะสมในระบบเป็นจำนวนมาก ก็มีผลเสียต่อคุณภาพน้ำโดยรวม และเป็นสาเหตุของตะใคร่ได้เช่นกัน

No3(ไนเตรท) เป็นสิ่งที่กำจัดได้ยากที่สุดในกระบวนการ เพราะสิ่งที่จะกำจัดไนเตรท ก็คือ “แบคทีเรีย แบบไม่ใช้ออกซิเจน” (Anaerobic Bacteria) ซึ่งจะพบในที่ที่ปราศจากออกซิเจน หรืออ๊อกซิเจนต่ำมากๆ เท่านั้น
ไนเตรท จะถูกเปลี่ยนให้เป็น  ก๊าซไนโตรเจน และระเหยออกนอกระบบ

แต่ในตู้ ปลาทะเลทั่วไป ทุกพื้นที่ในตู้ ล้วนแต่มีปริมาณออกซิเจนสูงแทบทั้งสิ้น จึงไม่มีที่อยู่มากเพียงพอสำหรับแบคทีเรียที่ใช้กำจัดไนเตรท อย่างไรก็ตาม ไนเตรท มีความเป็นพิษต่อสัตว์น้ำต่ำมาก ตัวเทสไนเตรท จึงอาจจะ

ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเบื้องต้น การกำจัดไนเตรท สามารถกระทำได้อีกหลายวิธี เช่นการเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ การปลูกสาหร่ายในระบบเพื่อให้ดึงไนเตรทไปใช้ รวมถึงการใช้เคมีภัณณ์บางชนิด ในการดูดซับไนเตรทออกจากระบบ

ทั้งหมดที่กล่าวมา ก็จะได้เป็นกระบวนการดังนี้

อาหารปลา,ขี้ปลา,ของเสียต่างๆในตู้ ->->-> NH3/NH4+(แอมโมเนีย) ->->-> (No2)ไนไตรท์ ->->->

(No3)ไนเตรท ->->->(N) ก๊าซไนโตรเจน ลอยออกจากระบบ

“ เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า วงจรไนโตรเจน (Nitrogen cycle) “

1. pH คือค่าความเป็นกรด-ด่าง

ในตู้ทะเลทั่วไปค่า pH ที่เหมาะสมคือ 8.0-8.3 เพราะเป็นค่าที่ไกล้เคียงกับในธรรมชาติมากที่สุด ควรจะรักษาให้อยู่ในระหว่างนี้ ตัวเทส pH จึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อตู้ทะเลเช่นกัน

2.ที่วัดความเค็ม(หรือความ ถ่วงจำเพาะ)ใช้สำหรับวัดค่าความเค็มในตู้
ตัววัดความเค็ม มีทั้งแบบตวง แบบปรอทลอยในน้ำ ซึ่งมีราคาถูก หาซื้อได้ทั่วไป หรือแบบกล้องส่อง(Refractometer) ซึ่งมีความแม่นยำกว่า แต่ราคาก็แพงกว่าอุปกรณ์ วัดความเค็ม เป็นสิ่งที่ขาดไมได้สำหรับตู้ทะเล เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของตัวเอง ค่าความเค็มที่ไกล้เคียงธรรมชาติที่สุด อยู่ระหว่าง 30-36 ppt สามารถเลือกใช้ค่าใดค่าหนึ่งก็ได้แต่ต้องพยายามรักษาค่านั้นให้คงที่ไว้


ขั้น ตอนในการเซตระบบตู้ทะเล สำหรับมือใหม่
บทความนี้ จะเป็นการแนะนำการเซตตู้ปลาทะเลสำหรับผู้เริ่มเลี้ยง เป็นข้อมูลจำเป็นที่ควรรู้เบื้องต้น

การเลี้ยงปลาทะเล ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายและไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว การขยันหาความรู้และประสบการณ์จะช่วยให้ผู้เลี้ยงประสบความสำเร็จมากขึ้น ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ผู้เลี้ยงสามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้ด้วยตัวเองจากหนังสือต่างๆ หรือเว็บไซด์ทางอินเตอร์เน็ต

1. หลังจากที่ได้ตู้มาแล้ว ให้ล้างตู้เปล่าด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้ง พื้นที่ที่จะวางตู้ ควรจะมีการวัดระดับให้ดี การที่พื้นเอียงหรือไม่ได้ระดับ อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ตู้แตกได้โดยง่าย หลังจากวางตู้เรียบร้อยแล้ว ก็ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่นปั๊มน้ำ ทำการเดินท่อน้ำให้เรียบร้อย ใส่วัสดุกรอง แล้วก็ให้เติมน้ำจืดจนเต็ม แล้วเปิดให้ระบบเดินตามปกติ เพื่อทดสอบรอยรั่วซึมของตู้ ทดสอบการไหลเวียนของน้ำในระบบกรอง และเป็นการชำระล้างสิ่งสกปรก คราบกาวและสารเคมีต่างๆในตู้ด้วย เดินระบบทิ้งไว้สัก 1 วัน หากไม่มีปัญหาอะไรก็ทำการดูดน้ำจืดทิ้งได้

2.ขั้น ตอนในการลงน้ำทะเล หากใช้น้ำทะเลจริง ก็วัดความเค็มดูก่อน ให้ได้ค่าที่เหมาะสม (หากจืดไปเราสามารถใช้เกลือวิทยาศาสตร์เติมลงไปเพื่อเพิ่มความเค็มได้ครับ ) เมื่อได้ค่าที่เหมาะสมแล้วแล้วก็สามารถนำมาลงตู้ได้เลย แต่หากใช้เป็นเกลือวิทยาศาสตร์ ก็ให้ผสมตามอัตราส่วนที่ระบุไว้ของแต่ละยี่ห้อ น้ำจืดที่นำมาผสม หากเป็นน้ำกรอง RO/DI ก็จะดีกว่าการใช้น้ำประปา เพราะจะปราศจากแร่ธาตุที่ไม่พึงประสงค์ อย่างเช่น ฟอสเฟต (Po4) ไนเตรท (No3) ฯลฯ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดตะใคร่ในระบบ
ทำการเติมน้ำจนเต็ม ระบบแล้วค่อยๆเติมเกลือลงไปตามอัตราส่วน เดินระบบ รอให้เกลือละลายหมดแล้วคอยวัดความเค็มไปเรื่อยๆ เพิ่มเกลือเข้าไป จนกว่าจะได้ค่าความเค็มที่ต้องการ

3. ขั้นตอนในลงหินเป็นและทราย ทำการล้างทรายให้สะอาดก่อนนำมาลงตู้ ล้างหลายๆครั้งจนกว่าน้ำที่ล้างจะใส ส่วนหินเป็น ก็ควรจะเป็นหินที่ผ่านการบำบัดแล้ว ดมดูไม่มีกลิ่นเหม็น เลือกที่สภาพดีที่สุด และมีสิ่งมีชิวิตอาศัยอยู่มากที่สุด เท่าที่จะหาได้
ขั้น แรกให้ลงทรายบางๆก่อน แล้วทำการลงหินเป็น จัดหินเป็นให้ได้ตามความต้องการและมั่นคง แข็งแรงไม่ล้มลงมาโดยง่าย เสร็จแล้วค่อยลงทรายตามลงไปจนกว่าจะได้ความหนาของทรายที่ต้องการ ที่ทำเช่น นี้ เพื่อที่จะให้ทรายเป็นตัวช่วยยึดฐานไม่ให้หินเป็นที่จัดไว้โยกคลอน ลดโอกาสที่หินจะล้มลงได้

4. การเซตตู้ เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด เปิดปั๊มน้ำ เดินระบบตู้ทิ้งไว้ ปกติการเซตตู้จะใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ควรจะอดใจรอ ใจเย็นๆ ไม่ควรจะลงปลา หรือสิ่งมีชีวิตต่างๆในช่วงเวลานี้ เพื่อรอให้เกิดแบคทีเรียในตู้ แบคทีเรียจะเป็นตัวย่อยสลายของเสียจากสัตว์ที่เราจะนำมาเลี้ยง เพื่อรักษาคุณภาพน้ำให้ดีอยู่เสมอ แบคทีเรียจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีอาหารของมันก่อน เราจะใช้วิธีใส่เนื้อกุ้งสดลงไปในระบบในอัตราส่วนประมาณ กุ้งทะเล 1 ตัวต่อน้ำ 100 ลิตร รอให้กุ้งเกิดการเน่าเสีย เมื่อมีของเสียก็จะเกิดแบคทีเรียขึ้นมากำจัดเอง หรือถ้าหากหินเป็น ที่เรานำมาใช้   เกิดการเน่าเสีย(จะเห็นเป็นราขาวๆ มีกลิ่นเหม็น) อยู่แล้ว ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใส่เนื้อกุ้งลงไปอีก ระหว่างนี้ เราอาจจะเติมพวกแบคทีเรียผง หรือหัวเชื้อแบคทีเรียต่างๆร่วมด้วยก็ได้ จะเป็นการช่วยให้ระบบเซตตัวได้เร็วยิ่งขึ้น

ช่วงนี้ ไม่ควรจะเปิดไฟให้ระบบ เพราะอาจจะเกิดตะใคร่ได้ง่าย ต้องมาคอยกำจัดในภายหลังอีก

5. ทำการวัด No2 (ไนไตรท์) ทุกๆ 3-4 วัน ช่วงแรกๆ อาจจะยังสูงอยู่ แต่หลังจากนั้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็จะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ นั่นแสดงให้เห็นว่า การทำงานของแบคทีเรียกำจัดของเสียในตู้เริ่มมีประสิทธิภาพแล้ว รอจนกว่า No2 (ไนไตรท์) จะลดลง จนเป็น 0 โดยมากแล้ว จะกินเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์

6. หลังจาก No2 ลดลง จนเป็น 0 แล้ว ควรจะเปลี่ยนถ่ายน้ำซัก 40-50 % รอซัก 1-2 วัน ให้เช็คค่า No2 ความเค็ม ค่า pH และอุณหภูมิ ดูอีกครั้ง ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ หลังจากนั้น เราก็พร้อมที่จะลงสิ่งมีชีวิตกันแล้วครับควร จะศึกษาข้อมูลของปลาที่จะนำมาเลี้ยง ก่อนที่จะซื้อมา ศึกษาข้อมูลการดำรงชีวิต การอยู่อาศัย การกินอาหาร พฤติกรรมของมัน ระดับความยาก-ง่ายในการเลี้ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง เพราะไม่เช่นนั้น อาจจะเสียทั้งเงิน เสียทั้งทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย

7. หลังจากที่ซื้อปลามา นำถุงที่ใส่ปลาแช่ลงในตู้ประมาณ 10-15 นาที เพื่อปรับอุณหภูมิน้ำในถุงให้เท่ากับในตู้ จากนั้น ทำการเปิดถุงแล้วดูดหรือตักน้ำจากตู้ปล่อยลงถุงช้าๆ ให้ปลาได้ทำการปรับตัวกับน้ำใหม่ ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีหรือให้น้ำในตู้ลงมาในถุงประมาณ 70 % ก็ปล่อยปลาลงตู้ได้ ตักเอาเฉพาะตัวปลาลงตู้ ส่วนน้ำที่ติดมากับถุงทิ้งไปได้เลยเพราะบางครั้ง น้ำที่มาจากร้านอาจจะมีพวกยาฆ่าเชื้อ สารเคมี หรือเชื้อโรคต่างปะปนมาด้วย

ช่วง แรกๆ อย่าเพิ่งรีบลงปลาจำนวนมากหรือถี่เกินไปเพราะระบบใหม่ๆ การกำจัดของเสียอาจจะทำได้ไม่ทัน ค่อยๆทยอยลงช้าๆ สัปดาห์ละ 1-3 ตัว จะปลอดภัยกว่า เลือกเอาเฉพาะปลาที่เลี้ยงง่ายๆ และมีนิสัยไม่ก้าวร้าวก่อนก็ดี

8. หมั่นดูแลรักษาระบบและสิ่งมีชีวิตในตู้ ตู้ใหม่ๆ ควรจะทำการเช็คค่าต่างๆในน้ำทุกๆ สัปดาห์ หมั่นสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ในตู้ ว่ามีอาการผิดปกติหรือเปล่า ควรจะทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำสัก 20-25 % ทุกๆเดือน หรือ 50 % ทุกๆ 3 เดือน เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพน้ำให้ดียิ่งขึ้น

ขั้น ตอนที่กล่าวมาข้างต้น เป็นข้อมูลที่ควรรู้เบื้องต้น สำหรับการเซตระบบสำหรับตู้เลี้ยงปลาทะเลเท่านั้น ส่วนการเลี้ยงปะการังและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ อาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆเพิ่มขึ้น เช่น ระบบไฟ ระบบการวบคุมอุณภูมิ การควบคุมปริมาณแร่ธาตุต่างๆในตู้ ฯลฯ รวมทั้งอุปกรณ์ก็มากขึ้นด้วย ซึ่งจะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป ………………


โดย: AwayG

Bookmark and Share
Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Powered by Blogger

Blog Directory

Subscribe in NewsGator Online Yahoo bot last visit powered by MyPagerank.NetMsn bot last visit powered by MyPagerank.Net Add to Google Reader or Homepage Ping your blog, website, or RSS feed for Free

Feeds